หน้าเว็บ

Tuesday, March 19, 2013

ไมโครซอฟท์เปิดร้านในเว็บไซต์ Tmall


Microsoft
ไมโครซอฟท์ได้เปิดหน้าร้านของตนเองบนเว็บไซต์ขายของที่ใหญ่ที่สุดในจีนคือ Tmall ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่บริหารโดยบริษัท Alibaba โดยจะขายผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์กว่า 50 อย่าง ได้แก่ Surface, Office, โทรศัพท์ Windows Phone และอุปกรณ์ PC ต่างๆ ของไมโครซอฟท์
การเปิดหน้าร้านใน Tmall นั้นจะทำให้กลุ่มลูกค้าในจีนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ได้มากขึ้นซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการกระตุ้นยอดขายของไมโครซอฟท์ที่ค่อนข้างซบเซาในจีน โดย Surface RT นั้นมีส่วนแบ่งตลาดในจีนอยู่ที่ 1% ในขณะที่ iPad นั้นมีส่วนแบ่งอยู่ที่ 62% และแท็บเล็ต Android อยู่ที่ 36% ครับ
ที่มา - TechCrunch blognone.com

Galaxy S4 รุ่นอเมริกาเหนือและยุโรปใช้ Snapdragon 600


Galaxy S4
เกริ่นเอาไว้ตั้งแต่งานเปิดตัวแล้วว่า Galaxy S4 จะใช้ซีพียูสองตัวคือ Exynos Octa กับ Snapdragon 600 และดูเหมือนรุ่นที่ขายในอเมริกาเหนือ และยุโรปจะเป็นรุ่นที่ใช้ Snapdragon 600 ทั้งหมด
ถึงจะเป็น Snapdragon 600 เหมือนกับ HTC One คือ APQ8064T แต่เมื่อนำไปทดสอบด้วย Geekbench 2 แล้วผลปรากฏว่า Galaxy S4 นั้นทำคะแนนได้ดีกว่า HTC One พอสมควร (ประมาณ 10%-20%) และทิ้งห่าง iPhone 5 ถึงเท่าตัว ส่วนเหตุผลที่แรงกว่า HTC One ทั้งที่ใช้รุ่นเดียวกันนั้น น่าจะเป็นเพราะว่าซัมซุงเพิ่มความถี่ซีพียูจาก 1.7GHz ไปเป็น 1.9GHz นั่นเอง
พร้อมกับสเปคที่ออกมา ราคาของ Galaxy S4 ในสหรัฐฯ ก็ตามมา โดยหลุดมาจากแคมเปญของซัมซุงเอง ที่ระบุว่าเครื่องเปล่าไม่ติดสัญญาจะราคาประมาณ 579 เหรียญ และภายหลังได้แก้ราคาเป็น 650 เหรียญ ในขณะเดียวกันราคาเครื่องในอังกฤษนั้นเปิดมาที่ 529.98 ปอนด์แบบรวมภาษีแล้ว เมื่อนำมาแปลงเป็นดอลลาร์ และหักภาษีออกก็จะได้ราคาประมาณ 650 เหรียญเช่นกัน
จากราคาที่ออกมาเทียบกับ Galaxy S III จะเห็นว่า Galaxy S4 นั้นเปิดราคาถูกลงกว่าเดิมเล็กน้อย เป็นไปได้ว่าเครื่องที่ขายในไทยก็น่าจะเปิดถูกลงครับ ?
ที่มา - GSM ArenaAndroid Authority blognone.com

Galaxy S4 บุกอเมริกา


หลังงานเปิดตัว Samsung Galaxy S4 ผู้สืบทอดของสมาร์ทโฟนระดับเรือธงตระกูล Galaxy S ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเป็นอย่างมากทั้งในแง่บวกและแง่ลบ
ในฐานะที่ผมมีโอกาสมาร่วมงานเปิดตัว Galaxy S4 ได้ลองจับของจริง และพูดคุยกับผู้บริหารของซัมซุงอยู่บ้าง ก็อยากวิเคราะห์-วิจารณ์ทิศทางและท่าทีของซัมซุงต่อการเปิดตัว S4 ครั้งนี้ด้วยครับ
Galaxy S4
ก่อนอื่นต้องแยกแยะว่า Galaxy S4 ไม่ได้เป็นเพียงแค่ฮาร์ดแวร์โทรศัพท์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ แต่มันกินความหมายครอบคลุม "แพลตฟอร์มซอฟต์แวร์และบริการ" ที่ซัมซุงกำลังสร้างขึ้น รวมไปถึงยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ-การตลาด-การแข่งขันของทั้งซัมซุง และอุตสาหกรรมไฮเทคในภาพรวมด้วย

ดังนั้นการวิเคราะห์-วิจารณ์ คงต้องแยกเป็นประเด็นๆ ไป ซึ่งมีทั้งประเด็นที่เชื่อมโยงและไม่เชื่อมโยงกับประเด็นอื่นนะครับ

หน้าตาและการออกแบบ

สิ่งที่ซัมซุงถูกวิจารณ์มากที่สุดคงเป็น "หน้าตา" ของ Galaxy S4 ที่เหมือนกับ Galaxy S III มากจนแยกลำบาก ซึ่งทางผู้บริหารของซัมซุงก็ตอบโจทย์ว่าเป็นความจงใจที่อยากใช้ "แพลตฟอร์มการออกแบบ" ของ S III ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก
จากที่ผมลองไปสัมผัสเครื่องจริงมา หน้าตาเหมือนเดิม วัสดุดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงขั้น "หรูหรา" แบบเดียวกับ iPhone 5 หรือ HTC One อยู่ดี และนี่จะเป็นจุดอ่อนให้ซัมซุงถูกวิจารณ์ว่าเป็น "พลาสติกก๊อบแก๊บ" อยู่ต่อไป
ในแง่การตลาด คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงเป็นผู้ซื้อ S4 บางกลุ่มที่รู้สึกว่า "ไม่ต่างอะไรกับ S III เลย" เวลาถือโชว์ไปมา (ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ใช้จำนวนหนึ่งที่เลือกโทรศัพท์ด้วยปัจจัยนี้) ทั้งๆ ที่ซื้อมือถือระดับเรือธงราคาแพง ประเด็นนี้แอปเปิลเข้าใจเป็นอย่างดี และเลี่ยงปัญหาเรื่อง "ความคาดหวัง" ว่ามือถือจะหน้าตาเปลี่ยนไปจากเดิมโดยตั้งชื่อรุ่นให้รู้สึกเสมือนเป็น minor change แทน
ถามว่าโดยส่วนตัวผิดหวังไหม ก็ตอบตามตรงว่าผิดหวังครับ แต่ถ้าถามว่าการออกแบบนี้มีผลอะไรกับยอดขายของ S4 หรือไม่ ผมประเมินว่าคงมีแหละ แต่ไม่น่าจะเยอะอย่างที่คาดกัน สุดท้ายแล้ว S4 น่าจะขายดีมากๆ ด้วยปัจจัยที่จะกล่าวถึงต่อไป
Galaxy S4

ฮาร์ดแวร์

ถ้าดูตามสเปก ฮาร์ดแวร์ของ S4 พัฒนาขึ้นจาก S III เกือบทุกด้าน ซีพียูใหม่และเร็วขึ้น หน้าจอละเอียดและใหญ่ขึ้น (ภายใต้ขนาดเครื่องที่เล็กลงจากเดิมนิดหน่อย) แบตเตอรี่เยอะขึ้น กล้องความละเอียดขึ้น
แต่ทั้งหมดที่ว่ามา มันเป็น "วิวัฒนาการ" ที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลา และเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดเดาได้ ในแง่ความน่าตื่นเต้นคงมีไม่เยอะนัก (ที่ผมว่าใหม่จริงๆ คือเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้น ซึ่งก็คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญอยู่ดี)
อย่างไรก็ตาม ถ้าดูพัฒนาการของวงการสมาร์ทโฟนในภาพรวม เราจะเห็นว่าฝั่งฮาร์ดแวร์เองก็ไม่มีอะไรใหม่แบบก้าวกระโดดเหมือนกับ 3-4 ปีก่อนหน้านี้แล้ว ถ้าเราย้อนไปดูสมาร์ทโฟนตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา อัตราของนวัตกรรมฝั่งฮาร์ดแวร์เติบโตเร็วมากอย่างน่าอัศจรรย์ จนไม่น่าจะเหลือที่ว่างให้กับนวัตกรรมด้านฮาร์ดแวร์อีกสักเท่าไรนัก
เมื่อเกือบหนึ่งปีก่อน ผมเขียนบทวิเคราะห์ Samsung Galaxy S III โดยใช้พาดหัวว่า เมื่อนวัตกรรมย้ายไปอยู่บนซอฟต์แวร์ ทิศทางนี้ยิ่งแจ่มชัดขึ้นใน Galaxy S4 ซึ่งประเด็นนี้จะกล่าวถึงต่อไปในหัวข้อเรื่องซอฟต์แวร์
ฟีเจอร์ด้านฮาร์ดแวร์อย่างเดียวที่ผมยังเห็นว่าพัฒนาต่อไปได้อีกพอสมควรคือ "กล้อง" ซึ่งในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา เราเห็นตัวอย่างจาก Nokia 808 PureView และ Lumia 920 ว่าถ้าตั้งใจทำจริงๆ มันก็มีของเจ๋งๆ ออกมาให้ใช้กัน (ทั้ง iPhone 5 และ HTC One ก็พยายามบุกไปในทางนี้ด้วย เพียงแต่โนเกียทำได้เด่นกว่า) ในขณะที่ S4 แทบไม่มีนวัตกรรมเรื่องฮาร์ดแวร์กล้องเลย ถือเป็นประเด็นย่อยๆ ที่น่าผิดหวังอยู่บ้าง

ซอฟต์แวร์และบริการ

งานเปิดตัว S4 เต็มไปด้วยการโชว์ฟีเจอร์ด้านซอฟต์แวร์ที่หลากหลาย ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าบางอย่างไม่ใช่ของใหม่ (เช่น S Voice Drive หรือ S Translate) และบางอย่างอาจใช้ประโยชน์จริงไม่ได้ (เช่น Smart Scroll)
ถ้าลองวิเคราะห์กันดู แรงจูงใจของซัมซุงกับเรื่องซอฟต์แวร์มีหลายประการ ดังนี้
1) สร้างระบบของตัวเองที่ไม่พึ่งพากูเกิล
สำหรับบริษัทใหญ่ขนาดซัมซุงที่ขายมือถือหลักร้อยล้านเครื่องต่อปี การที่ไม่สามารถควบคุมระบบปฏิบัติการได้เองถือเป็นจุดอ่อนสำคัญ (ดูตัวอย่าง Lumia สิครับว่าผลเป็นอย่างไร) ซัมซุงใช้ยุทธศาสตร์สองขาแก้ปัญหานี้ โดยทางหนึ่งไปซุ่มทำระบบปฏิบัติการเองเผื่อไว้ (Bada/Tizen) และอีกทางหนึ่งก็พยายามลดอิทธิพลหรือการพึ่งพากูเกิลลง
ยุทธศาสตร์ขาที่สองของซัมซุงเหมือนกับที่อเมซอนทำกับ Kindle Fire นั่นคือ "ขอยืม" เพียงแค่ระบบปฏิบัติการและแพลตฟอร์มแอพจากกูเกิล แต่สร้างบริการต่อยอดที่เหลือทั้งหมดด้วยตัวเอง การที่ซัมซุงหรืออเมซอนทำร้านขายเนื้อหาหรือแอพนำทางเอง แทนที่จะต้องผูกตัวกับ Play Store หรือ Google Maps จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก และ S4 ก็แสดงให้เห็นทิศทางนี้ที่ชัดเจนมากๆ
Galaxy S4
2) สร้างประสบการณ์การใช้งานสำเร็จรูป
แอพหลายตัวที่ซัมซุงโชว์ในงานแถลงข่าว คนอื่นทำกันมาเยอะแล้ว หาดาวน์โหลดได้ทั่วไปตามช่องทางดาวน์โหลดแอพบนแพลตฟอร์มต่างๆ
แต่ผู้อ่าน Blognone น่าจะทราบกันดีว่า ผู้ใช้สมาร์ทโฟนอีกจำนวนมาก "ไม่สนใจโหลดแอพ" ต่อให้เป็นแอพฟรีก็ตาม เนื่องจากเวลาในการศึกษาและเรียนรู้แอพถือเป็นต้นทุนที่ต้องจ่าย
ซัมซุงจึงใช้แนวทางเดียวกับแอปเปิลนั่นคือ "ผนวก" แอพที่คิดว่าจำเป็นมาให้เลยเสร็จสรรพ เพื่อหวังว่าจะสร้างประสบการณ์ใช้งานแบบสำเร็จรูป ชนิดว่าซื้อเครื่องมาเปิดครั้งแรกแล้วใช้ได้ทันที (ซึ่งจะใช้ดีจริงหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ต้องถกกันต่อไป)
3) ซอฟต์แวร์มีส่วนช่วยต่อการตลาด
ฟีเจอร์หวือหวาบางตัวอย่าง Sound and Shot, Smart Scroll/Pause, Air View, Group Play อาจใช้งานไม่ได้จริง (ซึ่งต้องดูกันที่รีวิวละเอียดนะครับ) แต่ในแง่การตลาด การประชาสัมพันธ์ การนำไปโปรโมท มันมีพลังและช่วยสร้างความแตกต่างตอนโฆษณาได้มาก
อย่าลืมว่าซัมซุงเป็นบริษัทมือถือที่ใช้เม็ดเงินโฆษณามหาศาล (จน HTC ต้องออกมาบลัฟ ดังนั้นเมื่อซัมซุงพัฒนาซอฟต์แวร์หรือฟีเจอร์ต้องคำนึงถึง "ตอนขาย" นอกเหนือจาก "ตอนใช้" ด้วย (ยุทธศาสตร์นี้ดีหรือไม่ขึ้นกับว่า "ตอนใช้" มันเวิร์คจริงหรือเปล่า เพียงแต่มันอธิบายว่าซัมซุงคิดถึง "ตอนขาย" ควบคู่ไปด้วย)

การตลาดและตำแหน่งของผลิตภัณฑ์

นับถึงวันนี้ปี 2013 แบรนด์ของ "ซัมซุง" ในโลกสมาร์ทโฟนติดลมบนไปเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้ใครจะไม่ชอบเป็นการส่วนตัว แต่ซัมซุงก็มียอดขายที่เป็นเบอร์หนึ่งของโลกติดต่อกันมาหลายไตรมาสเป็นหลักฐานพิสูจน์ตัวเอง
ยุทธศาสตร์การออกสินค้าของซัมซุงเน้นตลาดทุกระดับชั้น ตั้งแต่บนสุดยันล่างสุด โดยมีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวคือ "ยอดขาย" เป็นสำคัญ
ซัมซุงต้องการทำยอดขายให้เยอะที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ คำว่า "ยอดขายเยอะ" แปลว่าต้องขายตลาดแมส
การเปิดตัว Galaxy S4 ตอกย้ำทิศทางของซัมซุงว่าจะเน้นตลาดแมสต่อไป โดยวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ให้เน้นฟีเจอร์ด้านไลฟ์สไตล์เป็นหลัก มาถึงวันนี้เราต้องยอมรับว่า Galaxy S4 (และซีรีส์ Galaxy S ในภายรวม) หลุดพ้นความเป็นมือถือ geek อย่างสมบูรณ์ กลายเป็นมือถือตลาดแมส (ที่ระดับราคาพรีเมียม) อย่างสมบูรณ์
กลุ่มผู้ใช้ระดับสูงที่เน้นนวัตกรรมไฮเทค อาจไม่สนใจฟีเจอร์ฝั่งซอฟต์แวร์ที่ S4 นำเสนอ แต่ด้วยแบรนด์และกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด ผมยังคิดว่ากลุ่มผู้ใช้ที่ไม่สนใจเรื่องเทคนิคมากนัก ครอบครัว ผู้หญิง คนทำงาน (ตามที่นำเสนอในงานเปิดตัว) จะรู้สึกโดนใจกับฟีเจอร์ของ S4 เข้าสักอย่างจนได้
ในทางกลับกัน กลุ่มเป้าหมายที่ว่านี้ก็ไม่ได้สนใจกับความเร็วสัญญาณนาฬิกา จำนวนแรม หรือพิกเซลของกล้องเท่าไรนัก (แต่ถ้าสนใจบ้าง ซัมซุงก็ตอบโจทย์ได้ว่า "นี่ไง สเปกดีขึ้นกว่าเดิมทุกด้าน")
เมื่อซัมซุงให้ความสำคัญกับตลาดแมส (ที่มีจำนวนเยอะกว่าอย่างมีนัยสำคัญ) เป็นหลัก ผู้ใช้กลุ่ม geek หรือ power user อาจต้องมองหาตัวเลือกเป็นแบรนด์อื่นๆ แทน ฝั่งแอนดรอยด์ก็อาจเป็นโซนี่ แอลจี หรือไม่ก็ต้องมองไปถึง X Phone หรือ Nexus รุ่นถัดไปกันเลย
อย่างที่เขียนไปแล้วว่า S4 ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ตัวเดียว แต่ต้องมองให้ครบทั้งวัฏจักร ถ้ายังจำกันได้ ซัมซุงเคยอธิบายว่าเหตุผลหนึ่งที่ใช้พลาสติกเพราะผลิตง่าย การประกาศวางขาย S4 ใน 155 ประเทศภายในเวลาไม่นานนัก ถือเป็นความสำเร็จด้านการผลิต-การขายที่หาคนมาต่อกรได้ยาก (แอปเปิลยังมีปัญหาเรื่องสินค้า iPhone 5 ในช่วงแรกๆ และตัวเปรียบเทียบที่ดีที่สุดคือ Nexus 4 ที่เต็มไปด้วยปัญหาเรื่องการผลิตมากมาย)
โดยส่วนตัวผมก็ค่อนข้างผิดหวังกับ S4 ที่ไม่ว้าวเท่าที่คาด แต่ก็เชื่อว่ามันน่าจะขายดีมากๆ ด้วยเหตุผลเรื่องสเปกที่ดูดี แบรนด์อันทรงพลัง ฟีเจอร์ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย การตลาดขั้นเทพ ปริมาณสินค้าเหลือเฟือ และช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุม ประสานและเชื่อมกันอย่างเต็มที่ ส่วนยอดขายจะ "เพิ่มเท่าตัว" จาก S III หรือไม่ (และถ้าไม่ถึงจะมองว่าเป็นความล้มเหลวหรือไม่) ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปยาวๆ
Galaxy S4

บุกอเมริกา

ประเด็นสุดท้ายที่ผมคิดว่าควรกล่าวถึงคือ การเลือกเปิดตัว S4 ที่อเมริกาเป็นครั้งแรก ซึ่งมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ต่อสงครามมือถือระหว่างแอปเปิลกับซัมซุงเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันนี้แอปเปิลเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติอเมริกันรายเดียวที่ยังแข็งแกร่ง (ส่วนโมโตโรลาต้องรอดูการกลับมากับ X Phone ต่อไป) ปัจจัยด้านอารยธรรมและความเป็นชาตินิยม ทำให้อเมริกายังเป็นฐานที่มั่นอันเข้มแข็งของแอปเปิลเสมอมา
ถึงแม้ซัมซุงจะชนะเบ็ดเสร็จในหลายๆ ประเทศ แต่ในอเมริกาก็ยังสู้แอปเปิลไม่ได้
ความสำคัญของอเมริกาคือเป็นตลาดอันดับหนึ่งในเชิงสัญลักษณ์ จุดกำเนิดสินค้าไฮเทคทั้งหมดเริ่มต้นที่นี่ ทิศทางของตลาดสมาร์ทโฟนถูกกำหนดโดยอเมริกา (ผู้ผลิตระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟน 3 รายใหญ่อยู่ในอเมริกาทั้งหมด)
ดังนั้นซัมซุงจึงต้องทำทุกทางที่จะโค่นแอปเปิลแล้วยึดอเมริกาให้จงได้ ที่ผ่านมาเราจึงเห็นโฆษณาของซัมซุงแซวคนต่อคิวหน้าร้านแอปเปิล ซึ่งเป็น "ภาพตัวแทนคนอเมริกัน" แบบหนึ่ง สิ่งที่ซัมซุงพยายามเสนอคือบอกคนอเมริกาว่า "ใช้ซัมซุงเจ๋งกว่า ใช้ซัมซุงเท่กว่า" ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
ผมคุยกับเพื่อนคนไทยที่อยู่ในอเมริกาก็ได้ข้อมูลว่า คนเริ่มมองว่า "แอปเปิลน่าเบื่อ/ซัมซุงน่าสนใจ" มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนคนขับรถตู้รับส่งระหว่างที่ผมมางานที่นิวยอร์ก (เป็นคนรัสเซียที่ย้ายมาอยู่อเมริกา) ก็เล่าว่าเขาใช้ iPhone มานาน 5 ปี เพิ่งเปลี่ยนมาเป็น S III และใช้ Google Maps ดูทางเวลาไปไหนมาไหน (แต่เขาก็ยอมรับว่าซัมซุงยังมีปัญหาบางจุดที่สู้แอปเปิลไม่ได้ในเรื่องประสบการณ์ใช้งาน)
การเลือกจัดงานเปิดตัว S4 ที่สหรัฐจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจที่จะบุกยึดอเมริกาให้ได้ ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องรอดูต่อไปอีกสักระยะหนึ่งเช่นกัน
Galaxy S4

บทสรุป Galaxy S4

  • ฮาร์ดแวร์เริ่มเดินช้าลง เน้นที่ซอฟต์แวร์กับบริการแทน
  • มันเป็นมือถือตลาดแมสระดับพรีเมียม ดังนั้นกลุ่ม geek อาจต้องรอดู X Phone หรือ Nexus ตัวหน้า
  • เช่นเดียวกับที่สรุปไว้ใน บทวิเคราะห์ iPhone 5 ถ้าคิดจะอยู่ค่ายซัมซุง การซื้อ Galaxy S4 ถือเป็นตัวเลือกเดียวระดับตลาดบน เลขรุ่นเริ่มไม่สำคัญแบบเดียวกับฝั่งแอปเปิล มันเป็นการอัพเกรดตามรอบปีของค่ายเดิม
  • ซัมซุงต่างจากแอปเปิลที่ชูเรื่องนวัตกรรมเป็นหลัก เพราะซัมซุงยังมีเรื่องรุ่นของสินค้า ช่องทางจำหน่าย การตลาด ราคา ฯลฯ ให้พิจารณาร่วมอีกมาก


copy จาก blognone.com

Wednesday, March 13, 2013

Ubuntu Touch ตัวแรกของโลกเปิดให้จองแล้ว

Ubuntu Touch
Ubuntu Touch

หลังจากเปิดให้ได้โหลดไปเล่นกันได้ไม่นานสำหรับอุปกรณ์ Nexus วันนี้มีเว็บไซต์เปิดให้สั่งจอง Ubuntu Tablet กันแล้วครับ ภายใต้ชื่อ Intermatrix U7 ในราคา 275 USD โดยสเปกเป็นไปตามนี้




  • CPU: 1.5GHz Quad-Core Cortex A9;
  • GPU: Quad Core Vivante GC1000+;
  • RAM: 1 GB;
  • Flash storage: 16 GB;
  • Expansion slot: microSD Card Slot;
  • Display size: 7-inch IPS Capacitive Touchscreen @ 1280x800 (with a pixel density of ~275 PPI);
  • Camera: primary 2 MP, secondary 0.3 MP;
  • Connectivity: microUSB 2.0, HDMI 1.4, WLAN 802.11 b/g/n and 3.5 mm Audio Jack.
Tablet ตัวนี้ไม่ได้เป็นตัวที่ออกมาอย่างเป็นทางการจาก Canonical และยังไม่แน่ใจว่าเจ้าเว็บไซต์นี้น่าเชื่อถือสักแค่ไหน แต่ถ้ามันได้ออกมาเป็นของให้จับต้องได้จริง ยังไงแล้วมันก็ดีล่ะครับ
หน้าเว็บไซต์สำหรับสั่งจอง ที่ intermatrix.com.au
ที่มา: webupd8.org

11 ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส สำหรับนักออกแบบ


สำหรับผู้ที่ทำงานด้านออกแบบ อาจจะคิดไม่ถึงว่าจะมีซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่สามารถใช้ทดแทนงานที่ตนเองทำอยู่ได้ ซึ่งทาง smashingapps.com ได้หยิบเอามาให้ดูกันครับ ว่ามีซอฟต์แวร์โอเพรซอร์สอะไรบ้าง ที่สามารถใช้ทดแทนซอฟต์แวร์เชิงพานิชที่ใช้กันทั่วไปในฝั่งของงานออกแบบได้ ลองมาดูกันครับ ว่าทางเลือกของเรามีอะไรบ้าง
Jahshaka ทางเลือกสำหรับ Adobe After Effects

สำหรับงานตัดต่อวิดีโอโดยเฉพาะ พร้อมลูกเล่น Effect ต่างๆ พร้อมใช้งาน
CinePaint ทางเลือกสำหรับ Adobe Photoshop

เป็นซอฟต์แวร์ตกแต่งภาพที่ต่อยอดมาจาก GIMP รองรับภาพที่มีคุณภาพสูง เช่น DPX, 16-bit TIFF และ OpenEXR รวมถึงรองรับค่าสีได้ตั้งแต่ 8-bit, 16-bit ไปจนถึง 32-bit
Amaya ทางเลือกสำหรับ Adobe Dreamweaver

ซอฟต์แวร์ Web Editor ที่มีเครื่องมือต่างๆให้เลือกใช้มากมาย ใครเคยใช้ Dreamweaver อยู่ คงต้องลองตัวนี้ดูบ้างครับ (ผมก็ไม่เคย ไว้จะลองดู)
Open Office Draw ทางเลือกสำหรับ Microsoft Visio

โปรแกรมวาดไดอะแกรมอย่างง่าย ที่รวมไว้แล้วในชุด OpenOffice.org สามารถจัดหน้าหนังสืออย่างง่ายได้ด้วย รวมถึงไดอะแกรมที่วาดแล้ว สามารถนำไปใส่ในเอกสารของ Writer ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
Blender ทางเลือกสำหรับ Autodesk 3ds Max

ซอฟต์แวร์ตัวเล็กคุณภาพสูงตัวนี้ ที่จะช่วยคุณสร้างสรรค์ผลงานสามมิติให้เหมือนจริงได้ แม้ว่าการใช้งานอาจจะยากหรือไม่คุ้นเคยบ้าง แต่ก็ไม่ลำบากนักที่จะปรับตัว แถมผลงานที่ได้ก็ไม่ใช่จะด้อยกว่า 3ds Max เสียด้วย
Imgv ทางเลือกสำหรับ ACDSee

ซอฟต์แวร์ดูภาพที่ควบทุกความสามารถ เช่น เดียวกับซอฟต์แวร์ดูภาพอื่นๆ แต่โดดเด่นกว่าด้วยการที่สามารถรันได้บนหลายๆแพลทฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Windows, Linux, BSD, OSX หรืออื่นๆ
Inkscape ทางเลือกสำหรับ Adobe Illustrator

ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่ใช้วาดภาพ Vector เช่นเดียวกับ Illustrator, CorelDraw หรือ Xara X จุดเด่นคือใช้มาตราฐาน W3C ในการจัดเก็บไฟล์ คือเป็นไฟล์ SVG นั่นเอง
Gimpshop ทางเลือกสำหรับ Adobe Photoshop

อีกหนึ่งซอฟต์แวร์ตกแต่งรูปภาพที่ต่อยอดจาก GIMP โดยที่ Gimpshop จะเหมือนกับ GIMP แทบจะทุกประการ ที่แตกต่างคือ การจัดเรียงเมนูและชื่อเรียกในเมนูต่างๆ ให้ใกล้เคียง Photoshop มากขึ้น ทำให้ผู้ใช้ที่มีพื้นฐานการใช้งาน Photoshop อยู่แล้ว สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น
Xara LX ทางเลือกสำหรับ CoralDRAW

อีกหนึ่งซอฟต์แวร์วาดภาพแบบ Vector ที่เคยเป็ยซอฟต์แวร์ Proprietary มาก่อน อีกทั้งยังเคยเป็นที่นิยมมากๆด้วย ปัจจุบันความสามารถจะพัฒนาไปเป็นอย่างไรแล้วนั้น คงต้องหามาลองเล่นกันดูครับ
Avidemux ทางเลือกสำหรับ Final Cut Pro

อีกหนึ่งซอฟต์แวร์ตัดต่อวิดีโอ รองรับการตัดต่อวิดีโอจากไฟล์ที่หลากหลาย กับหน้าจอที่ดูใช้งานง่ายมากๆ ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้โปรแกรมเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น
Pencil ทางเลือกสำหรับ Toon Boom Studio

ใครจะรู้บ้างว่า ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สก็มีที่ใช้ในการสร้างการ์ตูนด้วย ใครชื่นชอบในการสร้างสรรค์ผลงานอนิเมชั่นไม่ควรพลาดกับโปรแกรมนี้ครับ
ทั้งหมดก็เป็นส่วนหนึ่งของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในโลกของนักออกแบบ ยังคงมีซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สอีกหลายตัวที่ไม่ได้หยิบมาแนะนำ ซึ่งอาจจะมีสักตัวที่เป็นตัวที่ถูกใจคุณ ยังไงก็ลองหามาเล่นกันดูครับ
ที่มา: ubuntuclub.com

ภัยอันตรายจากการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ

การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์
การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์

กระทรวงสาธารณสุขเตือนคนไทยที่ใช้ เครื่องคอมพิวเตอร์นานๆ อาจเจอปัญหามากกว่า 3 เด้ง ทั้งโรคอ้วน ต้อหิน และหลุดโลก กระทรวงสาธารณสุขจึง แนะผู้ที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นานๆ ควรรักษาสายตา จัดเวลาพักสายตาบ้าง
ขณะนี้เครื่องคอมพิวเตอร์ ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของคนไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นั้นทำให้คนไทยออกกำลังกายน้อยลง เนื่องจากเป็นการทำงานที่นั่งอยู่กับที่ เช่นเดียวกับในประเทศที่เจริญแล้วที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์กันมาก กำลังมีปัญหาโรคอ้วน โดยอย่างยิ่งเด็ก เพราะขาดการออกกำลังกาย และทักษะในการเข้าสังคม ปัญหาที่พบบ่อยเมื่อต้องนั่งปฏิบัติงานอยู่หน้าจอ
เครื่องคอมพิวเตอร์นานๆ ก็คือ ปัญหาความล้าของสายตา สาเหตุเกิดจากการมองทั้งจอภาพ แป้นพิมพ์ และเอกสารสลับกันตลอดเวลา รวมทั้งระยะความห่างที่แตกต่างกันในการมองเห็นวัตถุทั้ง 3 ทำให้สายตาต้องปรับโฟกัสตลอดเวลา ก่อให้เกิดความล้าของสายตา นอกจากนี้การใช้สายตาเพ่งนาน ๆ ยังอาจทำให้ดวงตาแห้งเกิดระคายเคืองดวงตาได้
นอกจากนี้การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นานๆ อาจส่งปัญหาให้สายตาอื่นๆ ได้อีก โดยเมื่อเร็วๆ นี้มีงานศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นานๆ โดยอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่มีสายตาสั้นอยู่แล้ว จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคต้อหินได้ ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำลายจอประสาททำให้ดวงตาบอดได้ในที่สุด โดยพบได้ 3 ใน 10,000 คน ของกลุ่มที่ทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ระบบประสาทดวงตาของคนที่สายตาสั้นจะมีความเครียดมากกว่าคนที่มีสายตา ปกติ ดังนั้นเรื่องความเครียดของสายตาจากการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ อาจกลายเป็นปัญหาในอนาคตอันใกล้นี้
เวลาขลุกอยู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์นานๆ ไม่ว่าจะทำงาน เล่นเกมส์ หรือดูอินเตอร์เน็ต ควรนั่งให้ห่างจากจอภาพไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร เพื่อลดปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาให้ได้รับน้อยที่สุด จากการศึกษาของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรคพบว่า
การติดแผ่นกรองแสงหน้าจอเครื่องคอมพิวเตอร์ สามารถลดระดับปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาจากจอภาพลงได้บ้าง แต่ไม่สามารถลดลงได้ทั้งหมด การติดหรือไม่ติดแผ่นกรองแสง จึงมีผลแตกต่างกันไม่มากนัก กับปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาเพียงแต่การติดแผ่นกรองแสง จะช่วยให้ผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ เกิดความสบายใจ หรือช่วยคลายความกังวล ลงได้บ้าง อย่างไรก็ดวงตาม แผ่นกรองแสง ก็ยังมีข้อดี ตรงที่ช่วยลดแสงจ้า แสงสะท้อน และไฟฟ้าสถิตย์ ช่วยให้ความล้าของสายตา ลดลง และป้องกันแสงสะท้อนเข้าสู่ดวงตาได้ระดับหนึ่ง
ดังนั้นจึงควรหันมารักษาและส่งเสริมสุขภาพสายตา โดยปรับระยะห่างระหว่างดวงตากับจอเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างพอเหมาะให้สามารถอ่านหนังสือ ตัวเล็กที่สุดบนจอได้อย่างสบายๆ โดยที่ไม่ต้องเพ่ง ปรับความสว่างของจอเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เหมาะกับดวงตา ให้รู้สึกไม่สว่างหรือมืดเกินไป และควรพักสายตาประมาณ 10 นาทีต่อชั่วโมง หรือพักทุก 15 นาที ต่อ 2 ชั่วโมง เช่น หลับดวงตา มองไปไกลๆ หรือดูสิ่งพิมพ์ตัวโตๆ ควรทำงานกับจอภาพไม่เกินวันละ ชั่วโมง

ประกวดไอเดียสร้างแอพมือถือ AIS The Startup Weekends 2013


ประวัติศาสตร์ของวงการไอทีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดเจนว่าโลกไอทีหมุนตาม startup เสมอ เราเห็นบริษัทอย่างเอชพี แอปเปิล ไมโครซอฟท์ กูเกิล ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก โผล่ขึ้นมาจากโรงรถหรือห้องใต้ดินแล้วเปลี่ยนโลกในไม่กี่อึดใจ บริษัทหน้าใหม่เหล่านี้สร้างนวัตกรรมให้โลก ในขณะเดียวกันก็สร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ก่อตั้ง พนักงาน และนักลงทุน
นี่จึงไม่น่าแปลกใจนักว่าทำไมกระแส startup ถึงมาแรงทั้งในตลาดโลกและตลาดบ้านเรา เพราะมันเป็นการลงทุนที่สร้างคน สร้างเทคโนโลยี และสร้างธุรกิจไปพร้อมๆ กัน
ช่วงหลังๆ ในประเทศไทยเองก็มีโครงการสนับสนุน startup เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งยักษ์ใหญ่รายล่าสุดที่เข้ามาร่วมวงการคือโอเปอเรเตอร์หมายเลขหนึ่งของไทยอย่าง AIS กับโครงการ AIS The Startup
ที่มา blognone